Guido of Arezzo
กวิโดแห่งอาเรซโซ
โดย สันตินาถ บุญเจือ
กวิโดแห่งอาเรซโซ(Guido of Arezzo หรือ Guido Aretinusหรือ Aretinusหรือ Guido da Arezzo หรือ Guido Monaco หรือ Guido d’Arezzo หรือ Guido de Sancto Mauro หรือ Guido de St Maur des Fosses) เกิดเมื่อปี ค.ศ.995 ใกล้ๆกับกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และเสียชีวิตที่เมืองอาเวลลาโน (Avellano) ใกล้กับเมืองอาเรซโซ เมื่อปี ค.ศ.1050 (www.newadvent.org/cathen/07065a.htm, 1 July 2010)กวิโดเป็นนักทฤษฎีดนตรี และเป็นครูที่มีชื่อเสียงในสมัยยุคกลางได้รับยกย่องว่าเป็นผู้พัฒนาระบบการบันทึกโน้ตดนตรีโดยใช้เส้นบันทึกโน้ต(staff-notation) และเป็นผู้เผยแพร่วิธีการร้องโน้ตแรกเห็น (sight-singing) โดยใช้คำ ut, re, mi, fa, sol, la ตำรา Micrologusเป็นตำราที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอารามฤาษีในช่วงยุคกลาง เป็นตำราที่ใช้สอนในมหาวิทยาลัยตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 13และเป็นตำราที่มีการคัดลอกทำสำเนาและใช้สอนกันมาที่สุดรองจากตำราของโบเธียส (Boethius)โดยพบสำเนาที่ถูกคัดลอกด้วยลายมือไม่ต่ำกว่า 70 ฉบับที่ถูกทำขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 11-15
ชีวิต
ปีเกิดของกวิโดไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามเวสเบิร์ก(Smith van Waesberghe)ได้ค้นคว้าจากจดหมาย2 ฉบับ คือ จดหมายของกวิโดถึงสังฆราชเทโอดัลดุส (Bishop Theodaldus) และจดหมายถึงภราดาไมเคิลแห่งปอมโปซา (Brother Michael of Pomposa) รวมทั้งจากตำรามิโครโลกุส(Micrologus)(ปัจจุบันสูญหาย) ที่มีบันทึกไว้ว่า กวิโดเขียนมิโครโลกุสเสร็จเมื่ออายุ 34 ปี ในสังฆสมัยของสันตะปาปาจอห์นที่ 19 ซึ่งครองตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ.1024-1033 เขาจึงสันนิษฐานว่ากวิโดน่าจะเขียนตำราในระหว่างปี ค.ศ.1028-1032 และเกิดในช่วงปี ค.ศ.994-998 ในขณะที่เอิช(Hans Oesch)กล่าวว่ากวิโดเขียนตำราในระหว่างปี ค.ศ.1025-1026 ดังนั้นเขาจึงสันนิษฐานว่ากวิโดเกิดประมาณปี ค.ศ.991และโมแรง (Dom Morin) กล่าวว่ากวิโดเกิดปี ค.ศ.995
กวิโดได้รับการศึกษาและได้บวชเป็นฤาษีคณะเบเนดิกติน ที่อารามแซงโมเดฟอส(St.Maur des Fosses) ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงปารีส กวิโดสังเกตเห็นความยุ่งยากสับสนในวิธีการสอนร้องเพลงพิธีกรรมทางศาสนาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในขณะนั้น จึงพยายามคิดค้นวิธีสอนแบบใหม่ แต่ความพยายามนี้เองทำให้เพื่อนนักบวชในคณะไม่พอใจและทำให้กวิโดต้องย้ายไปอยู่ที่อารามฤาษีแห่งปอมโปซา(monastery of Pomposa) ประเทศอิตาลีซึ่งตั้งอยู่แถบชายฝั่งทะเลอาดรีอาติก(Adriatic)ใกล้กับเมืองเฟอรารา (Ferrara) ที่นั่นกวิโดได้สร้างชื่อเสียงจากการฝึกสอนนักร้องให้เรียนรู้และสามารถขับร้องบทเพลงใหม่ๆที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนภายในระยะเวลาอันสั้น กวิโดและภราดาไมเคิลเพื่อนของเขาได้ประพันธ์บทเพลงในพิธีกรรม (ปัจจุบันสูญหาย) โดยบันทึกโน้ตตามระบบใหม่ที่กวิโดคิดค้นขึ้น ซึ่งได้รับความสนใจจากอารามฤาษีแห่งอื่นๆในอิตาลี แต่ได้รับการเหยียดหยามและได้รับความเกลียดชังจากเพื่อนฤาษีเบเนดิกตินด้วยกันเองจนเป็นเหตุให้กวิโดต้องย้ายไปอยู่เมืองอาเรซโซ
กวิโดย้ายไปอยู่เมืองอาเรซโซในปีใด ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างปี ค.ศ.1033-1036 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังฆราชเทโอดาลด์ (Bishop Theodaldหรือ Bishop Theodaldus) ดำรงตำแหน่งเป็นสังฆราชแห่งเมืองอาเรซโซ และกรุนวาลด์ (Grunwald) มีตำแหน่งเป็นอธิการอาราม(บางตำราสันนิษฐานว่ากวิโดย้ายไปอยู่เมืองอาเรซโซปี ค.ศ.1025)เนื่องจากเมืองอาเรซโซไม่มีอารามฤาษี สังฆราชเทโอดาลด์จึงมอบหมายให้กวิโดเป็นผู้ฝึกสอนคณะนักร้องของอาสนวิหารแห่งอาเรซโซ และเขียนตำรามิโครโลกุล(Micrologus)
ประมาณปี ค.ศ.1028 สันตะปาปาจอห์นที่ 19 ได้ส่งผู้ส่งสาสน์มาถึง 3 ครั้งเพื่อเชิญกวิโดให้เดินทางไปกรุงโรมเพื่ออธิบายบทร้องทำวัตรที่กวิโดทำขึ้นใหม่โดยการบันทึกทำนองเพลงบนเส้นบันทึกโน้ต เมื่อสันตะปาปาเห็นว่าวิธีของกวิโดง่ายต่อการเรียนรู้ทำนองเพลงด้วยตนเอง จึงชักชวนให้กวิโดย้ายมาอยู่ที่กรุงโรมเพื่อสอนวิธีการใหม่นี้แก่คณะสงฆ์ในกรุงโรม แต่เนื่องจากกวิโดล้มป่วยจากสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของกรุงโรมทำให้เขาต้องออกจากกรุงโรมกลับไปอยู่ที่อารามแห่งปอมโปซา ซึ่งการกลับมาครั้งนี้เขาได้รับการต้อนรับอย่างดี ชีวิตของกวิโดหลังจากนี้ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้ แต่มีหลักฐานว่าในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต กวิโดมีตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส(Prior) ของโบสถ์ประจำอารามอาเวลลานา (Avellana) เมืองคามาลโดเลเซ (Camaldolese) ซึ่งอยู่ใกล้กับเมืองอาเรซโซ และเสียชีวิตที่นั่นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1050
งานเขียน
งานเขียนของกวิโดที่สำคัญมีดังนี้
1. Prologus in antiphonarium(Prologue to antiphoner)เป็นส่วนคำนำของหนังสือรวมบทเพลงทำวัตร ซึ่งกวีโดนำบทเพลงทำวัตรที่ใช้ในสมัยนั้นทั้งหมดมาเรียบเรียงใหม่โดยใช้เส้นบันทึกโน้ตในคำนำของหนังสือเล่มนี้กวิโดได้เล่าถึงความยากลำบากในการท่องจำบทเพลงสวด (chant)ในสมัยนั้น และชี้ให้เห็นถึงข้อดีของเส้นบันทึกโน้ตที่ช่วยในการแยกระดับเสียงของโน้ต และช่วยในการร้องโน้ตแรกเห็น
2. Micrologus(Micrologus de disciplinaartismusicae)กวิโคเขียนขึ้นเมื่อประมาณปีค.ศ.1025เป็นตำราที่เชื่อกันว่ามีเนื้อหาครอบคลุมความรู้ทฤษฎีดนตรีทั้งหมดที่ใช้ปฏิบัติจริงในสมัยนั้น ทั้งดนตรีหลากแนว (polyphony) และดนตรีแนวเดียว (plainchant)เป็นตำราสำหรับนักร้องที่กวิโดได้รับมอบหมายจากสังฆราชเทโอดาลให้เขียนขึ้น เพื่ออธิบายวิธีการการบันทึกโน้ตแบบใหม่ และวิธีการร้องเพลงสวดเมื่อแรกเห็น
3. Regulaeryhthmicae(Regulaeryhthmicaein antiphonariiprologumprolatae)เป็นคำนำของหนังสือรวมบทเพลงทำวัตร ซึ่งกวีโดนำหลักการบางประการในหนังสือMicrologusมาอธิบายโดยย่อ เช่น ช่วงเสียง (gamut)คู่เสียง(intervals)โมด (modes)โน้ตจบ (finals)และวิธีการบันทึกตัวโน้ตบนเส้นบันทึกโน้ตที่ใช้สีและตัวอักษรกำกับ
4. Epistola de ignotocantuเป็นจดหมายที่กวิโดเขียนถึงภราดาไมเคิล ซึ่งเป็นทั้งเพื่อนและศิษย์ ในจดหมายกวิโดอธิบายถึงวิธีร้องโน้ตแรกเห็นโดยใช้พยางค์ut, re, mi, fa, sol, la ซึ่งเขานำมาจากเนื้อร้องของฮิม(hymn) บทหนึ่งชื่อว่า Utqueantlaxis
คำอธิบายทฤษฎีดนตรีของกวิโดและคำศัพท์ต่างๆ
1. Antiphonarium (= Antiphoner, Antiphonal, Antiphonary)
Antiphonerหมายถึง หนังสือรวมเพลงสวดที่ใช้ในการทำวัตร (plainsongfor the Divine Office) ซึ่งต่างจาก Gradual ซึ่งหมายถึง หนังสือรวมเพลงสวดที่ใช้ในพิธีมิสซา (plainsong for the Mass) (Kennedy 1994 : 27)
จากการศึกษาผลงานของกวิโดพบว่า กวิโดไม่ได้ประพันธ์เพลงสวดขึ้นใหม่ แต่เป็นการรวบรวมเพลงสวดที่มีอยู่เดิม นำมาเรียบเรียงใหม่โดยใช้วิธีการบันทึกโน้ตบนเส้นบันทึกโน้ตที่เขาคิดค้นขึ้น และเพลงสวดที่กวิโดเรียบเรียงใหม่เป็นเพลงสวดที่ใช้ในการทำวัตรเท่านั้น ไม่มีการกล่าวถึงเพลงสวดในมิสซาแต่อย่างใด
2. gamut
คำว่า “Gamut”ในยุคกลาง คือ โน้ต G ต่ำสุดของบันไดเสียงกรีก เป็นการรวมคำ 2 คำเข้าด้วยกัน คือ Gamma เป็นชื่อเรียกตัวอักษร G (G)ในภาษากรีก และ Utซึ่งเป็นคำที่กวิโดกำหนดให้เป็นพยางค์ร้องโน้ตตัวแรกของเฮกซาคอร์ด (westrup, et al., 1976 : 226)
บันไดเสียงของกรีกทั้ง 21 ตัวมีดังนี้
รูปภาพจาก The New Grove Dictionary of Music and Musicians (CD Rom)
3. Hexachord
เฮกซาคอร์ด ประกอบด้วยโน้ต 6 ตัว ตามโครงสร้างเต็มเสียง (tone) และครึ่งเสียง (semitone) ดังนี้ T - T - S- T - T ดังที่ ณัชชา (2547 : 138) กล่าวว่า
เฮกซาคอร์ด, กลุ่มโน้ตเรียงหก มาจากภาษากรีก แปลว่า 6 สาย หมายถึง กลุ่มโน้ต 6 ตัวเรียงกันตามลำดับในบันไดเสียง ประกอบด้วยขั้นคู่ครึ่งเสียงและขั้นคู่เต็มเสียง เป็นหลักทฤษฎีดนตรีที่พบในยุคกลาง โน้ต 6 ตัวที่เรียงตามลำดับมีระยะห่าง 1 เสียงเต็ม ยกเว้นระหว่างโน้ตตัวที่ 3 กับโน้ตตัวที่ 4 ซึ่งห่างกันครึ่งเสียง เป็นคำที่ใช้อธิบายทฤษฎีดนตรีตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 11 ปัจจุบันเทียบได้กับโน้ต 6 ตัวแรกของบันไดเสียงเมเจอร์
ในหนังสือ Micrologusกวิโดแบ่งเฮกซาคอร์ดออกเป็น 3 ชนิดคือ
1) Soft hexachord (hexachordummolle)คือ เฮกซาคอร์ดที่มี Bb เป็นสมาชิก เกิดจากเฮกซาคอร์ดที่เริ่มด้วยโน้ต F ประกอบด้วยสมาชิก คือ F, G, A, Bb, C และ D
2) Hard hexachord (hexachordumdurum) คือ เฮกซาคอร์ดที่มี B เป็นสมาชิก เกิดจากเฮกซาคอร์ดที่เริ่มด้วยโน้ต G ประกอบด้วยสมาชิก คือ G, A, B, C, D แล E
3) Natural hexachord (hexachordumnaturale) คือ เฮกซาคอร์ดที่ไม่มี B เป็นสมาชิก เกิดจากเฮกซาคอร์ดที่เริ่มด้วยโน้ต C ประกอบด้วยสมาชิก คือ C, D, E, F, G และ A
4. Solmization
ณัชชา กล่าวว่า“solmization คือ การใช้พยางค์ร้องโน้ต การใช้คำหรือพยางค์ในภาษาพูดเพื่อแสดงระดับเสียงต่างๆของตัวโน้ต...ระบบนี้คิดค้นโดย กวิโด ดาเรซโซ (Guido d’Arezzo) ตั้งแต่ประมาณปี ค.ศ.1000 โดยใช้คำว่า อุท (Ut) กับโน้ตตัวโด” (ณัชชา โสคติยานุรักษ์2547 : 286-287)
จากจดหมายถึงภราดาไมเคิลทำให้พบว่า กวิโดเป็นผู้ริเริ่มวิธีใช้พยางค์ร้องโน้ต โดยสามารถร้องโน้ตเฮกซาคอร์ดทั้ง 6 ตัวโดยใช้คำ 6 พยางค์ คือ ut, re, mi, fa, sol และla ซึ่งเป็นพยางค์แรกของแต่ละวลีในฮิม Utqueantlaxis ซึ่งมีข้อความว่า Utqueantlaxis, Resonarefabris,Mira gestorum,Famulituorum,Solve pollute Labiireatum,SancteJoannes.นอกจากนี้โน้ตตัวแรกของแต่ละวลีในฮิมขึ้นต้นด้วย C, D, E, F, G และ A ตามลำดับ ซึ่งเมื่อวางเรียงกันแล้วจะมีโครงสร้างเป็นเฮกซาคอร์ดพอดี ซึ่งเพลง UtQueantLaxisนี้เป็นบทประพันธ์ในคริสตศตวรรษที่ 8 เชื่อกันว่าประพันธ์โดย Paulus Diaconus
รูปภาพจาก http://www.catholicculture.org/culture/liturgicalyear/activities/view.cfm?id=112
สำหรับการใช้พยางค์ร้องโน้ตในบันไดเสียงของกรีกที่มีโน้ตถึง 21 ตัว กวิโด ใช้ hard hexachord ซึ่งมีโน้ต G เป็นตัวแรกเป็นเฮกซาคอร์ดเริ่มต้น ซ้อนด้วย soft hexachord และ natural hexachord ตามลำดับ ดังนี้
Note | Syllable | ||||||
Ee | La | ||||||
Dd | la | Sol | |||||
Cc | sol | Fa | |||||
bb♮ | Mi | ||||||
bb♭ | fa | ||||||
Aa | la | mi | Re | ||||
G | sol | re | Ut | ||||
F | fa | ut | |||||
E | la | mi | |||||
D | la | sol | re | ||||
C (middle C) | sol | fa | ut | ||||
b♮ | mi | ||||||
b♭ | fa | ||||||
A | la | mi | re | ||||
G | sol | re | ut | ||||
F | fa | ut | |||||
E | la | mi | |||||
D | sol | re | |||||
C | fa | ut | |||||
B | mi | ||||||
A | re | ||||||
Γ | Ut |
รูปภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/Hexachord
จากรูปจะพบว่าในแต่ละเฮกซาคอร์ดมีโน้ตที่เหลื่อมกันอยู่ ซึ่งการร้องโน้ตที่อยู่เลยเฮกซาคอร์ดออกไปจำเป็นต้องมีการ mutation คือการเปลี่ยนพยางค์จากเฮกซาคอร์ดหนึ่งไปเป็นอีกเฮกซาคอร์ดหนึ่งซึ่งมีลักษณะเหมือนกับการ้องโซลเฟจ (Solfege) ที่มีการเปลี่ยนคีย์เพลงในปัจจุบัน
การใช้พยางค์ร้องโน้ตในบันไดเสียงของกรีกมีการทำเป็นแผนผังบนฝ่ามือข้างซ้าย เรียกว่า มือกวิโดเนียน (Guidonian Hand) เพื่อใช้ช่วยสอนการร้องโน้ต โดยผู้สอนจะร้องโน้ตพร้อมกับใช้มือขวาชี้ไปที่ฝ่ามือข้างซ้ายของตนเองตามตำแหน่งของโน้ตที่กำลังร้อง
รูปภาพจากhttp://en.wikipedia.org/wiki/Guidonian_hand, 9 July 2010.
5. organum
ออร์กานุม คือ รูปแบบดนตรีหลากแนว (polyphony) ที่มีกำเนิดในยุคกลาง ดังที่ ณัชชา (2547 : 215)กล่าวว่า “ออร์กานุม ดนตรีหลากแนวในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 9-13 เป็นดนตรีหลากแนวชนิดแรกในประวัติศาสตร์ดนตรี เป็นเพลงร้อง 2 - 4 แนวเสียง…”
ออร์กานุม เป็นการสร้างเสียงประสานเหนือทำนองเพลงสวด โดยใช้เสียงประสานขั้นคู่สี่ คู่ห้า และคู่แปด และอาจจะมีแนวที่สามร้องประสานขั้นคู่แปดกับแนวที่สองออร์กานุมในช่วงเริ่มแรกเคลื่อนทำนองแบบขนานเท่านั้น เรียกว่า enchiriadisหรือstrict organumแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ออร์กานุมคู่ห้าขนาน (diapente)และออร์กานุมคู่สี่ขนาน (diatesseron) แต่เนื่องจากการเคลื่อทำนองแบบขนานมีโอกาสเกิดเสียงขั้นคู่สามเสียง (Tritone) ซึ่งเป็นเสียงต้องห้าม จึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ออร์กานุมแบบอิสระ(free organum)คือ เพิ่มรูปแบบการเคลื่อนทำนองแบบสวนทาง (contrary motion) และการเคลื่อนทำนองแบบเฉียง (oblique motion)เข้าไปด้วย
จากงานเขียนของกวิโดในหนังสือ Micrologusบทที่ 18 กวิโดได้อธิบายวิธีการเขียนออร์กานุมไว้ เช่น กวิโดได้วิจารณ์วิธีการเขียนออร์กานุมแบบคู่ห้าขนานและคู่แปดขนานว่าเป็นเสียงที่แข็งกระด้าง และแนะนำวิธีการเคลื่อนทำนองให้ได้เสียงที่นุ่มนวล คือ ให้หลีกเลี่ยงขั้นคู่ครึ่งเสียงหรือขั้นคู่สองไมเนอร์(semitone) และขั้นคู่ห้าเพอร์เฟค(diapente) และให้ใช้ขั้นคู่สี่เฟอร์เฟค(diatessaron) ขั้นคู่สามเมเจอร์(ditone) ขั้นคู่สองเมเจอร์(tone) และขั้นคู่สามไมเนอร์(semiditone) ตามลำดับ สำหรับวิธีการหลีกเลี่ยงขั้นคู่สามเสียงจากการเคลื่อนทำนองคู่สี่ขนาน กวิโดแนะนำให้แก้ไขโดยเคลื่อนทำนองแบบเฉียง และการเคลื่อนทำนองบริเวณเคเดนซ์กวิโดแนะนำให้เคลื่อนทำนองจากขั้นคู่สาม หรือขั้นคู่สองมาบรรจบที่ยูนิซัน (occursus)
6. staffnotation
“staff, stave หมายถึง บรรทัดห้าเส้น, เส้นบันทึกโน้ต” (ราชบัณฑิตยสถาน 2548 : 78) และ “notation หมายถึง การบันทึกโน้ต”(ณัชชา โสคติยานุรักษ์2547 : 207) เมื่อรวมคำเข้าด้วยกันแล้ว staff notation จึงหมายถึง การบันทึกโน้ตบนเส้นบันทึกโน้ต หรือที่ณัชชา (2547 : 294) กล่าวว่า หมายถึง “การบันทึกโน้ตบนบรรทัดห้าเส้น” แต่เนื่องจากยุคกลางยังไม่มีการใช้บรรทัดห้าเส้น จึงต้องนิยามว่า การบันทึกโน้ตบนเส้นบันทึกโน้ต
ศาสนาคริสต์ในยุคเริ่มแรก เพลงสวดยังมีจำนวนไม่มาก เป็นดนตรีแนวเดียว (monophony) และใช้ขับร้องกันเป็นประจำทุกวัน ดังนั้นจึงเป็นการง่ายที่บรรดานักบวช นักขับร้อง และแม้แต่ฆราวาส จะท่องจำบทเพลงสวดได้ทั้งหมด และถ่ายทอดสู่กันปากต่อปาก การบันทึกโน้ตเพลงในขณะนั้นจึงมีลักษณะเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยเตือนความจำเท่านั้น และนั่นหมายถึงนักร้องจะต้องรู้จักเพลงนั้นๆมาก่อนแล้ว ต่อมาเมื่อพิธีกรรมทางศาสนามีขั้นตอน และมีวันฉลองเพิ่มมากขึ้น บทเพลงในพิธีกรรมจึงมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย จนไม่สามารถเรียนรู้และจดจำได้ทั้งหมด นอกจากนี้ทำนองเพลงยังถูกบิดเบือนได้ง่ายด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ความไม่ชัดเจนของระบบบันทึกโน้ตทำให้ไม่ทราบระดับเสียงและจังหวะที่ชัดเจน ผู้คัดสำเนาขาดความละเอียดรอบคอบทำให้คัดลอกข้อมูลผิดพลาด และความไม่แน่นอนของนักร้องและผู้ถ่ายทอดที่มักจะร้องตามอำเภอใจ ไม่ยึดถือตามต้นแบบ
การบันทึกโน้ตในยุคกลาง ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นเมื่อใด แต่คาดว่าประมาณศตวรรษที่ 8 เริ่มมีการใช้นูมส์ (neumes) เป็นสัญลักษณ์แสดงทิศทางของเสียง โดยใช้สัญลักษณ์ทางไวยากรณ์ภาษาของกรีกและโรมัน 2 สัญลักษณ์ คือ เสียงสูงขึ้นใช้สัญลักษณ์ / (actus)และเสียงต่ำลงใช้สัญลักษณ์\(gravis) ซึ่งไม่บ่งบอกถึงระดับเสียงและจังหวะ ต่อมานูมส์ถูกพัฒนาเรื่อยมาจนถึงรูปแบบที่เรียกว่า heighted neumes คือ นูมส์ที่เขียนสูงต่ำตามระดับเสียง ทำให้เห็นภาพคร่าวๆของทิศทางทำนองและระยะห่างของเสียงแต่ละเสียง และเริ่มมีการใช้เส้นบันทึกโน้ตเพื่อกำหนดระดับเสียงของโน้ตโดยเริ่มจากเส้น C กลาง (middle C) และเส้น F คู่ 5 ต่ำกว่า C กลาง มีการใช้สีแดงสำหรับเส้น F และสีเหลือง หรือสีเขียวสำหรับเส้น C ซึ่งการใช้เส้นกำหนดระดับโน้ตนี้ไม่มีหลักฐานว่ากวิโดเป็นคนแรกที่ริเริ่มวิธีการนี้ หรือเป็นวิธีการที่มีใช้อยู่ก่อนหน้านี้แล้ว แต่เท่าที่มีหลักฐานคือ กวิโดเป็นผู้เพิ่มเส้นบันทึกโน้ตอีก 2 เส้น คือ เส้นA อยู่ระหว่างเส้น F กับ C และเส้น D อยู่ต่ำที่สุดในบรรดาเส้นบันทึกโน้ต การบันทึก ซึ่งเป็นต้นแบบของบรรทัด 5 เส้นในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามวิธีการบันทึกโน้ตบนเส้นบันทึกโน้ต 4 เส้นนี้ปัจจุบันยังสามารถพบได้ในหนังสือเพลงสวดเกรกอเรียนชานท์ (Gregorian chant)
เหตุผลที่กวิโดคิดค้นเส้นบันทึกโน้ตเพียง 4 เส้น อาจเป็นเพราะทำนองเพลงในสมัยนั้นมีช่วงเสียงไม่เกินคู่ 8 (Octave) และมีการบันทึกโน้ตเฉพาะเพลงร้องเท่านั้น เส้นบันทึกโน้ตเพียง 4 เส้นจึงเพียงพอสำหรับการบันทึกโน้ตในสมัยนั้น
7. mode
โมด หรือ โมดเพลงโบสถ์ เป็นบันไดเสียงโบราณ ประกอบด้วยโน้ต 7 ตัวเรียงตามลำดับ ใช้เป็นกลุ่มโน้ตพื้นฐานในการแต่งเพลงในยุคกลาง...มีโครงสร้างตายตัว แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ โมดหลักและโมดรอง (ณัชชา โสคติยานุรักษ์2547 : 56)
จากการศึกษาผลงานของกวิโดพบว่าในหนังสือ Micrologusกวิโดได้อธิบายเรื่องโมด โดยเรียกชื่อโมดทั้ง 4 ว่า protus,deuterus,tritusและtetradusสำหรับบทเพลงที่ขึ้นต้นด้วยโน้ต D, E, F และ G ตามลำดับ ซึ่งชื่อโมดมีที่มาจากเลขนับในภาษากรีก และแบ่งแต่ละโมดออกเป็นโมดหลัก (authentic mode) และโมดรอง(plagal mode) ดังนั้นจึงมีโมดรวมทั้งหมด 8 โมด โดยมี finalisคือ โน้ตตัวสุดท้ายของบทเพลง เป็นโน้ตศูนย์กลางของบทเพลง เป็นโน้ตที่ถูกใช้บ่อยที่สุดในบทเพลง และเป็นตัวกำหนดโมดของบทเพลงนั้นๆ ช่วงเสียงของทำนองเพลงไม่ว่าจะอยู่ในโมดหลักหรือโมดรองมักจะอยู่ภายในหนึ่งช่วงคู่แปด โมดหลักจะเริ่มด้วย finalisและจบด้วย finalisส่วนโมดรองจะเริ่มด้วยโน้ตคู่สี่เฟอร์เฟคต่ำกว่า finalisของโมดหลัก และมีfinalisตัวเดียวกับโมดหลัก และเนื่องจากการเคลื่อนที่ของทำนองต้องหลีกเลี่ยงขั้นคู่สามเสียงเป็นสำคัญโน้ต B จึงสามารถเปลี่ยนเป็น Bb ได้ในทุกโมด
บรรณานุกรม
“Guido d’Arezzo.” [On line] available at : http://www.longwood.edu/staff/swansoncl/Sightsinging/GUIDO AREZZO.htm, 1 July 2010.
“Guido D’Arezzo.” [On line] available at : http://www.totallyratted.com/theory/0004_guido.pdf, 1 July 2010.
“Guido of Arezzo.” [On line] available at :http://en.wikipedia.org/wiki/Guido_of_Arezzo, 1 July 2010.
“Guido of Arezzo.” [On line] available at :http://www.1911encyclopedia.org/Guido_Of_Arezzo, 9 July 2010.
“Guido of Arezzo.” [On line] available at : http://www.newadvent.org/cathen/07065a.htm, 1 July 2010.
“Guidonian Hand.” [On line] available at :http://en.wikipedia.org/wiki/Guidonian_hand, 9 July 2010.
“Hymn: Utqueantlaxis (text).”[On line] available at :http://www.catholicculture.org/culture/liturgicalyear/activities/view.cfm?id=112
“Micrologus.” [On line] available at :http://www.newadvent.org/cathen/10285a.htm, 9 July 2010.
Kennedy, Michael.The Oxford Dictionary of Music. 2nd ed., Oxford : Oxford University Press, 1994.
Lloyd, Norman. The Golden Encyclopedia of Misic. New York : Golden Press.
Palisca Claude V. “Guido of Arezzo [Aretinus].”In The NewGrove Dictionary of Music & Musicians. Sadie, Standey., ed., London : Macmillan, 1980. (CD-ROM).
Westrup, Jack, and Harrison, F. Ll.Wilson, Collins Encyclopedia of Music. 2nd ed., London : Collins Cleartype, 1976.
ณัชชา โสคติยานุรักษ์ . พจนานุกรมศัพท์ดุริยางคศิลป์. พิ มพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547.
ราชบัณฑิตยสถาน. ศัพท์ดนตรีสากล. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2548.